ในยุคนี้สมัยนี้ใคร ๆ ก็อยากที่จะดูดีทุกมุมมองกันทั้งนั้น คงไม่มีใครที่อยากจะถูกถ่ายรูปแบบเผลอ ๆ แล้วต้องมาหมดความมั่นใจเพราะรูปนั้นเห็นปัญหาผมบางศีรษะล้านที่ชัดเจน และในปัจจุบันนี้ใคร ๆ ก็มีปัญหาหนังศีรษะได้ไม่ใช่แค่ผู้ชายเท่านั้น ในผู้หญิงก็มีปัญหาผมบางหรือหน้าผากกว้างได้เช่นกันที่อาจทำให้รวบผมไม่ได้เพราะหน้าผากที่กว้างจนเกินไป อันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ ฮอร์โมนในร่างกาย การรวบผมที่แน่นตึงบ่อย ๆ รวมถึงสารเคมีและมลภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของหนังศีรษะและเส้นผมได้ ในระยะแรก ๆ การดูแลรักษาด้วยการกินยาหรือการบำรุงต่าง ๆ จะยังช่วยได้อยู่ แต่ถ้าอยู่ในจุดที่เส้นผมมันหายไปแล้วล่ะ? เราสามารถทำอย่างไรได้บ้างที่จะทำให้ตรงนั้นกลับมามีเส้นผมใหม่อีกครั้ง?
วันนี้หมอจะพามารู้จักการปลูกผมกันครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังเหมือนจะน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเลย
การปลูกผม ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย หลัก ๆ แล้วมี 2 ประเภทแยกตามวิธีการนำเส้นผมจากด้านหลังศีรษะออกมา คือ
วิธีที่ 1 Follicular Unit Transplantation (FUT หรือ FU-strip) คือ การปลูกผมโดยการกรีดเอาหนังศีรษะออกมาส่วนหนึ่งจากด้านหลังของศีรษะที่เรียกว่า donor area โดยจะเป็นชิ้นขนาดไหนขึ้นกับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น จำนวนผมที่ต้องการใช้ ความยืดหยุ่นของหนังศีรษะ เป็นต้น เส้นผมจากชิ้นส่วนหนังศีรษะนั้นจะถูกนำมาหั่นแยกออกมาเป็นกอ ๆ เรียกว่า “กราฟต์” หรือ “กราฟต์ผม” ที่จะถูกนำไปปลูกยังบริเวณที่ต้องการต่อไป วิธีนี้สามารถนำกราฟต์ผมออกมาได้เป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง อาจมากถึง 4,000 กราฟต์เลยทีเดียว แต่วิธีจะทิ้งแผลเป็นยาวไว้ที่ด้านหลังศีรษะที่อาจไม่สามารถไว้ผมด้านหลังสั้น ๆ ได้ แผลที่เกิดจากการกรีดนี้ก็ต้องมีการเย็บปิดแผลและการตัดไหม ทำให้มีระยะพักฟื้นที่นานพอสมควร
วิธีที่ 2 Follicular Unit Excision (FUE) คือ การปลูกผม โดยการเจาะดึงเอาผมจากด้านหลังของศีรษะเป็นกอ ๆ เป็นแผลกลม ๆ ตามจำนวนที่ต้องการ กราฟต์ผมที่ได้เหล่านั้นก็จะถูกนำไปปลูกยังบริเวณที่ต้องการต่อไป ในปัจจุบันวิธีนี้มีการพัฒนาเพื่อให้แผลมีขนาดที่เล็กลงและให้ผลลัพธ์การปลูกผมมีความสวยงามเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้นเรียกว่าเทคนิค DHI (Direct Hair Implantation) โดยขั้นตอนพื้นฐานยังมีลักษณะแบบ FUE แต่จะมีในขั้นตอนการตบแต่งนำเนื้อเยื่อส่วนเกินออกจากกราฟต์ผมทำให้ได้กราฟต์ผมที่ลักษณะผอมเพรียวมากขึ้น และทำการปลูกด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า DHI Implanter ที่จะช่วยให้มีการควบคุมทิศทางของผมที่ปลูกให้อยู่ในทิศทางเดียวกันกันกับผมรอบข้างได้ง่ายขึ้นและปลูกได้หนาแน่นมากขึ้นกว่าวิธีการปลูกแบบดั้งเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับ FUT วิธีนี้จะได้จำนวนกราฟต์ผมที่น้อยกว่า แต่แผลกลม ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นไม่มีการเย็บปิดแผลทำให้มีระยะการพักฟื้นที่สั้นกว่า โดยเฉพาะแบบ DHI ที่แผลแต่ละมีขนาดเส้นผ่านศูนย์ไม่ถึง 1 มิลลิเมตรก็จะยิ่งฟื้นตัวไวขึ้น และแน่นอนว่าจะไม่ทิ้งแผลเป็นเป็นทางยาวไว้ที่ด้านหลังศีรษะ
จะเห็นว่าการปลูกผมทั้งสองวิธีมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันครับ ดังนั้นควรศึกษาหาข้อมมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนและปรึกษาแพทย์ที่มีประสบการณ์ก่อนที่การตัดสินใจ เพื่อให้การปลูกผมนั้นเป็นการเพิ่มความมั่นใจมากกว่าการทำลายความมั่นใจนั่นเองครับ