ปัญหาศีรษะล้าน-เถิก ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นสำหรับหลาย ๆ คนแน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่ตัดสินใจเข้ารับการปลูกผมถาวร แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในปัญหานี้แน่นอน แต่หากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่หวัง ก็คงน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ผมจะพามาดูสาเหตุที่ปลูกผมแล้วหลังปลูกก็แน่นดี แต่พอเวลาผ่านไปทำไมดูบางลง
สาเหตุที่ปลูกผมแล้วออกมาไม่แน่นนั้นเกิดขึ้นได้จาก 3 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ 1.การประเมินและการวางแผนการปลูก 2.เทคนิคที่ใช้ในการปลูกผม 3.การได้กินยาอย่างต่อเนื่องหลังการปลูกผมหรือไม่
การประเมินและการวางแผนการปลูกผม
ในการปลูกผมจะต้องมีการประเมินพื้นที่ที่ต้องการปลูก (recipient area) ว่ามีพื้นที่กว้างใหญ่แค่ไหน รวมถึงความหนาแน่นที่ต้องใช้ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับจำนวนกราฟต์ผมที่คนคนนั้นสามารถนำออกมาปลูกได้ด้วย และการวางแผนการปลูกว่าจะปลูกบริเวณใดบ้าง เช่น ปลูกเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่า ปลูกแทรกในบริเวณที่มีผมบางลงร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น ทั้งหมดเป็นสิ่งที่จะต้องนำพิจารณาที่จะส่งผลต่อผลลัพธ์ที่จะออกมาทั้งสิ้น
เทคนิคที่ใช้ในการปลูกผม
เทคนิคและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกผมก็ส่งผลต่อความหนาแน่น อย่างการปลูกผมด้วยเทคนิค FUE แบบดั้งเดิมที่ไม่มีการตบแต่งนำเนื้อเยื่อหนังศีรษะที่ติดมากับกราฟต์ผมออก (hair graft trimming) ทำให้มีการกินพื้นที่รอบข้าง และหลังการปลูกเสร็จจะดูมีลักษณะคล้ายไข่ปลาในบริเวณที่ทำการปลูก ในขณะที่การปลูกด้วยเทคนิค DHI FUE ที่มีการใช้ DHI implanter ที่มีการใช้อุปกรณ์การเจาะดึงรากผมขนาดเล็กร่วมกับการตบแต่งนำเนื้อเยื่อของหนังศีรษะออกจากกราฟต์ผม ทำให้ได้กราฟต์ผมที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถทำการปลูกให้มีความหนาแน่นได้มากกว่าและหลังการปลูกเสร็จทันทีมีลักษณะที่ดูสวยงาม ไม่มีลักษณะของไข่ปลาอย่างการปลูกด้วยเทคนิค FUE แบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่รอดของกราฟต์ผมที่นำปลูก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้น้ำยาในการแช่เลี้ยงกราฟต์ผม การควบคุมระยะเวลาในการปลูกไม่ให้กินเวลายาวนานเกินไป การควบคุมอุณหภูมิต่อกราฟต์ผม เป็นต้น ถ้ากราฟต์ผมมีชีวิตรอด ณ พื้นที่ที่ทำการปลูกน้อยก็จะส่งผลถึงความหนาแน่นของการปลูกผมอย่างแน่นอน
การได้กินยาอย่างต่อเนื่องหลังการปลูกหรือไม่
เนื่องจากการปลูกผมด้วยการย้ายรากผมจะเป็นการแก้ปัญหาเพียงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของหนังศีรษะ แต่ปัญหาผมบางศีรษะล้าน-เถิกจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมนเพศชาย (androgenetic alopecia) สามารถกินพื้นที่ศีรษะด้านบนได้ทั้งหมด (ลักษณะหัวล้านแบบขุนช้าง) ทำให้ภายหลังการปลูกผมที่ดูหนาแน่นดีหลังการปลูกในช่วงปีแรก ๆ เกิดความห่างตามมาได้จากเส้นผมที่อยู่เดิมตรงนั้นตั้งแต่แรกหายไปตามเวลา ถ้าไม่ได้มีการกินยาเพื่อลดอิทธิพลของฮอร์โมนเพศชายต่อรากผม ฉะนั้นแม้จะทำการปลูกผมถาวรไปแล้วก็ควรที่จะต้องกินยาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเส้นผมที่ยังคงเหลืออยู่ด้านบนไม่ให้หายไปตามเวลาง่าย ๆ ต่อไป
สรุป ทำไมบางคนปลูกผมแล้วถึงบาง
จะเห็นได้ว่าปลูกผมไปแล้วผมไม่แน่นเหมือนกับตอนที่เพิ่งปลูกเสร็จใหม่ ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินก่อนการปลูกว่าจำนวนกราฟต์ผมที่มีนั้นเพียงพอกับพื้นที่ที่ต้องการแก้ไขหรือไม่ เทคนิคที่ใช้ในการปลูกได้ใช้เทคนิคที่ช่วยให้ปลูกได้แน่นมากขึ้นอย่าง DHI FUE รวมถึงการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตรอดของกราฟต์ผมหรือไม่ และการดูแลรักษาหลังการปลูกอย่างการกินยาเพื่อชะลอการหายไปของเส้นผมที่ยังเหลืออยู่หรือไม่