แผลเป็น เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการถามเข้ามามากที่สุด สำหรับหัวข้อแผลเป็นและการปลูกผม หมอขอแยกออกเป็น 2 ประเด็น 1 แผลที่เป็นที่เกิดจากการปลูกผม 2 การปลูกผมบริเวณที่เป็นแผลเป็น ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องหมอขอเกริ่นเกี่ยวกับแผลเป็นกันก่อน
แผลเป็นมาจากไหน ?
แผลเป็นเกิดขึ้นจากกระบวนการหนึ่งของร่างกายเพื่อที่จะทำการปิดบาดแผลนั้นให้สนิท ไม่ว่าจะเป็นแผลจากอุบัติเหตุ แผลผ่าตัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือแผลปลูกผม จะตามมาด้วยการผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าคอลลาเจนเพื่อช่วยสร้างเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายขึ้นใหม่ ทำให้บาดแผลหายเป็นปกติในที่สุด จนเมื่อเวลาผ่านไปสัก 3 เดือน คอลลาเจนใหม่ก็ยังถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเลือดก็มาเลี้ยงมากขึ้นจนแผลนูนเป็นก้อนแข็งและแดง หากคอลลาเจนเหล่านี้หยุดสร้าง และเลือดที่มาเลี้ยงลดลง แผลเป็นจะค่อย ๆ เรียบ นุ่มลง และจางไปในที่สุด
ทั้งนี้การเกิดแผลเป็นในแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมจึงมีโอกาสเกิดแผลเป็นมากกว่า โดยบริเวณที่เสี่ยงเกิดแผลเป็นได้ง่ายคือหน้าอก หลัง ติ่งหู และไหล่ และหากเป็นบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อ เช่น หัวเข่าและไหล่ ก็ยิ่งทำให้แผลเป็นขยายออกกว้างขึ้นได้ง่าย
แผลที่เป็นที่เกิดจากการปลูกผม
แผลเป็นที่เกิดจากการปลูกผม ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ก็คือแผลเป็นที่เกิดจากเทคนิคปลูกผมแบบ FUT และการปลูกผมแบบ FUE
การปลูกผมแบบ FUT ถือเป็นการผ่าตัด เป็นเทคนิคแบบเก่าที่ใช้วิธีการกรีดเอาหนังศีรษะของคนไข้ออกมาก่อนที่จะไปปลูก แผลเป็นจะเกิดในบริเวณที่ทำการกรีดหนังศีรษะนี้นี่เอง โดยปกติแผลเป็นด้วยเทคนิคนี้จะเป็นรอยแผลเป็นยาวตั้งแต่บริเวณหูซ้ายถึงหูขวา และยังต้องมีระยะพักฟื้นที่นาน ทำให้วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน
การปลูกผมแบบ FUE จะเป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากการเจาะเอากราฟต์ผมออกมา ลักษณะของแผลเป็นจะเป็นจุดสีขาวกระจายทั่วบริเวณที่ทำการเจาะกราฟต์ผมออกมา ขนาดของแผลเป็นขึ้นกับขนาดของหัวเจาะดึงกราฟต์ที่ใช้ โดยปกติถ้าทำการปลูกผมด้วยเทคนิค DHI ที่ใช้หัวเจาะขนาดเล็กพิเศษ แผลเป็นที่เกิดจะมีขนาดเล็กมากจนสังเกตได้ยากครับ
โดยมากลักษณะแผลเป็นที่มักจะเกิด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
แผลเป็นทั่วไป แผลเป็นที่อาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะพบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นจากกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกาย แผลเป็นชนิดนี้แรกเริ่มมักปรากฏเป็นสีแดงหรือสีคล้ำ นูนขึ้นมาจากผิวหนัง หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ มีสีอ่อนและแบนลงเมื่อเวลาผ่าน
แผลเป็นคีลอยด์ กระบวนการรักษาแผลที่คอลลาเจนถูกสร้างขึ้นมากผิดปกติ ทำให้เนื้อเยื่อของแผลเป็นที่เกิดขึ้นเติบโตจนเกินขอบเขตของแผลเดิมและขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าแผลจะหายดีแล้วก็ตาม
แผลเป็นคีลอยด์มักมีลักษณะนูนขึ้นจากผิวหนัง ค่อนข้างเป็นมันเงา และไม่มีขนขึ้นที่แผล ในระยะแรกของแผลจะมีสีแดงหรือม่วง หลังจากนั้นสีจึงค่อย ๆ ซีดลงไป ผิวสัมผัสจะให้ความรู้สึกแข็ง ๆ คล้ายยาง แต่คีลอยด์ในบางบริเวณก็อาจเกิดเป็นก้อนนุ่ม ๆ ได้
แผลเป็นนูน แผลเป็นนี้คล้ายคลึงกับคีลอยด์มากทีเดียว เพราะนอกจากจะเกิดจากการผลิตคอลลาเจนรักษาแผลที่ไม่สมดุลเหมือนกัน ลักษณะรูปร่างยังใกล้เคียงกับแผลเป็นคีลอยด์ที่มีสีแดงและนูนขึ้น เพียงแต่แผลเป็นนูนนั้นจะยังอยู่ในขอบเขตของแผลเดิม
การปลูกผมในบริเวณที่เป็นแผลเป็น
แผลเป็นในบริบทนี้ หมายถึงแผลเป็นที่เกิดจากการปลูกผม และไม่เกิดจากการปลูกผม ในประเด็นนี้จะต้องพิจารณาในเรื่องของการไหลเวียนของเลือดในบริเวณของแผลเป็นที่น้อยกว่าผิวปกติ ที่มีผลต่อการอยู่รอดของกราฟต์ผมที่นำมาปลูกที่จะน้อยกว่าผิวปกติได้ ดังนั้นจึงมีหลายวิธีการที่นำมาใช้สำหรับการปลูกผมบนแผลเป็น เช่น การปลูกครั้งละน้อย ๆ กราฟต์ โดยแบ่งปลูกหลาย ๆ ครั้ง การปลูกผมร่วมกับการทำ plasma PRP และใช้เทคนิค DHI ที่จะเพิ่มความแน่นให้กับจำนวนกราฟต์ผมได้ก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ
สำหรับใครที่กังวลเกี่ยวกับปลูกผมบนแผลเป็นก็สามารถ Inbox เข้ามาติดต่อหมอได้ผ่านช่องทาง Facebook และ Line ของหมอนะครับ