คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารูปลักษณ์และบุคลิกภาพที่ดีนั้นช่วยส่งเสริมความมั่นใจและสร้างโอกาสทางสังคมที่ดีให้แก่ชีวิตได้ไม่น้อย หากลองนึกภาพตนเองส่องกระจกจะพบว่าอวัยวะที่จะมองเห็นอันดับแรกสุดก็คือ ใบหน้าและศีรษะ ความบกพร่องบนใบหน้าสามารถอำพรางได้ด้วยเครื่องสำอางต่าง ๆ หรือแก้ไขด้วยการทำศัลยกรรมได้ แต่หากเป็นปัญหาผมบางจนเห็นหนังศีรษะหรือมีหัวล้านแบบขุนช้าง สิ่งที่เห็นนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายแต่อาจจะส่งผลร้ายต่อสภาพจิตใจและความมั่นใจของผู้ที่มีปัญหานี้พอสมควร
ปัญหาผมบาง-ล้านจากกรรมพันธุ์ (androgenetic alopecia; AGA) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมกับรากผมที่มีความไวต่อฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ ภาวะนี้มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง บางท่านอาจมีอาการเริ่มต้นจากผมร่วงมาตั้งแต่วัยหนุ่มและยิ่งมีอาการเด่นชัดมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการที่แสดงออกมามีได้ในหลายรูปแบบ เช่น ผมบางบริเวณกลางศีรษะ มีการถอยร่นแนวผมด้านหน้าลึกเข้าไปเป็นง่ามรูปตัวเอ็ม เป็นต้น
ปัญหาผมบางจาก DHT
ฉะนั้นเราจึงควรทำความรู้จักตัวการที่ทำให้เส้นผมค่อย ๆ หายไปจากหนังศีรษะ นั่นก็คือฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า dihydrotestosterone หรือ DHT ที่เกิดขึ้นมากที่รากผมของผู้ที่มีปัญหา จากการทำงานของเอนไซม์ 5-alpha reductase ที่จะเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย testosterone จากลูกอัณฑะให้กลายมาเป็นฮอร์โมน DHT ที่จะค่อย ๆ ทำให้เส้นผมมีขนาดที่เล็กลงจนหายไปจากหนังศีรษะในที่สุด
เมื่อกล่าวถึงทางเลือกในการรักษาสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท อย่างแรกคือการใช้ยาโดยมีทั้งยากินและยาทาที่หนังศีรษะโดยตรง ยาออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5-alpha reductase ที่รากผมทำให้มีฮอร์โมน DHT เกิดขึ้นน้อยลง ร่วมกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตและลดการหลุดร่วงของเส้นผม จะสังเกตได้ว่ายามีการทำงานที่ต้นเหตุของปัญหานี้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำให้มีเส้นผมเกิดขึ้นใหม่บนหนังศีรษะที่ไม่มีเส้นผมแล้วได้
การปลูกผม แบบ DHI
ทางเลือกที่สองคือการทำศัลยกรรมการปลูกผม เทคนิคการปลูกผมนั้นมีการทำกันมานานหลายสิบปี ด้วยเวลาที่ผ่านไปทำให้มีการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้การปลูกผมในปัจจุบันดูมีความน่ากลัวน้อยลง ใช้เวลาในการทำเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลง และได้ผลลัพธ์ที่ดูดีเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยการปลูกผมจะใช้การย้ายรากผมจากบริเวณศีรษะด้านหลังที่มีความแข็งแรงและได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมน DHT น้อยมาทำการปลูกผม เทคนิคที่เป็นที่นิยมในทุกวันนี้ คือ Follicular unit excision (FUE) และ Direct hair implantation (DHI)
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มมีปัญหาผมบางแต่ยังไม่ถึงกับหนังศีรษะล้านอาจจะเริ่มต้นการรักษาด้วยการทำ ReCell และ Plasma hair PRP ที่จะช่วยกระตุ้นเซลล์รากผมที่ฝ่อเล็กลงให้กลับมาอ้วนโตอีกครั้งและยังช่วยลดการหลุดร่วงอีกด้วย
ดังนั้นเมื่อท่านทราบแล้วว่าภาวะผมบางหัวล้านนี้มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมน DHT ที่เรามีอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงควรใส่ใจในการเริ่มต้นดูแลปัญหานี้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ และอย่างเป็นองค์รวม เพื่อไม่ให้ภาวะดังกล่าวมาทำลายความมั่นใจของท่าน อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบุคคลรอบข้าง นับเป็นการลงทุนในตัวเองที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ทำให้ได้มาซึ่งความมั่นใจและโอกาสดี ๆ ของชีวิตในภายภาคหน้า