สงสัยกันไหมครับ ว่าการที่เราเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโมแล้วเกิดอาการผมร่วง เราจะสามารถแก้ไข้ด้วยการปลูกผมแบบย้ายราก หรือปลูกผมด้วยเซลล์รากผมได้หรือไม่? ในบทความนี้ เรามาตามหาคำตอบกันครับ ก่อนอื่นเรามาเริ่มที่ความน่ากลัวของมะเร็งกันก่อน เพราะสำหรับใครที่คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว อาจต้องคิดใหม่ครับ
จากข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย
โดยคนไทยเสียชีวิต วันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปี และมีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี
ซึ่งเมื่อแยกเป็นเพศชาย-หญิงแล้ว พบว่า เพศชายป่วยเป็นมะเร็ง 169.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน ในขณะที่เพศหญิงพบป่วยเป็นมะเร็ง 151 คนต่อประชากร 1 แสนคน คิดเป็นอันดับที่ 18 ของเอเชีย พอมองดูแล้วก็นับว่าเป็นจำนวนคนไข้ที่มากเลยทีเดียวนะครับ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาก็ยังมีอยู่อีกหลายวิธี ตามอาการที่ต่างกันไปของคนไข้ อาทิเช่น การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกไป การฉายแสงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และการทำเคมีบำบัด หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในชื่อ “การทำคีโม” นั่นเอง ซึ่งเป็นการใช้ยา (สารเคมี) ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำคีโมได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่ผลข้างเคียงของมันก็คือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยง่าย มีภาวะเยื่อบุทางเดินอาหารอักเสบ รวมไปถึงเส้นผมและเส้นขนร่วงนั่นเองครับ
แน่นอนว่าผลของการที่ผมเราหลุดร่วงไปก็ย่อมทำให้ขาดความมั่นใจ และทำให้ดูป่วยหนักกว่าความเป็นจริงอีกด้วย คนไข้หลายท่านจึงพยายามที่จะหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ และมีคำถามว่าปลูกผมเหมาะกับการปัญหานี้หรือไม่
การปลูกผมเหมาะกับการรักษาผู้ป่วยผมร่วงจากเคมีบำบัดหรือไม่?
สืบเนื่องมาจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัดหรือการทำคีโม หมอขอบอกก่อนเลยนะครับ ว่าการทำเคมีบำบัดคือการให้ยาที่มีผลออกฤทธิ์ด้วยการทำลายเซลล์ที่ยังมีความสามารถในการแบ่งตัว เพราะหนึ่งในเซลล์ที่มีความสามารถแบ่งเซลล์ตลอดเวลา ก็เป็นคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งนั่นเอง ซึ่งบังเอิญว่าเซลล์รากผมก็เป็นหนึ่งในเซลล์ที่มีความสามารถดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องรับผลกระทบเต็ม ๆ
จะสังเกตได้จากการได้รับยาเคมีบำบัดไปสักระยะหนึ่ง จะเริ่มเกิดอาการหลุดร่วงของเส้นผม ซึ่งแตกต่างจากอาการผมร่วงตามธรรมชาติหรือตามกรรมพันธุ์ และอิทธิพลจากฮอร์โมน DHT ที่เมื่อเกิดอาการเส้นผมด้านหลังจะยังเหลืออยู่เพราะผมบริเวณด้านหลังไม่มีตัวรับฮอร์โมน DHT แตกต่างจากการได้รับการรักษาแบบเคมีบำบัด ที่จะออกฤทธิ์ไปทั่วทั้งหนังศีรษะรวมไปถึงเส้นผมและขนทุกเส้นบนร่างกายเรา ซึ่งถึงแม้การที่ผมร่วงเพราะการทำเคมีบำบัดจะทำให้ผมร่วงมากเพียงใด หากเราต้องการที่จะใช้การปลูกผมเข้ามาช่วยยื้อการมีอยู่ของผมด้วยการปลูกผมในระหว่างนั้น หมอขอบอกได้เลยครับ ว่าหากเราทำการปลูกผมไป ผมก็จะยังคงร่วงอยู่ดี
หรือแม้จะทำการปลูกผมด้วยเซลล์รากผมด้วยเทคนิคอย่าง RECELL หรือ การทำ RECELL plus 3X ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เพราะการทำ RECELL เป็นการนำเนื้อเยื่อรากผมจากด้านหลังศีรษะออกมาสกัดเอาสเต็มเซลล์รากผม ไปผ่านกระบวนการทางการแพทย์ เพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่ฉีดได้ แล้วนำกลับมาฉีดไปยังหนังศีรษะของเราในพื้นที่ที่ยังมีเส้นผม หรือยังมีรูขุมขนที่ยังไม่ปิดหายไป (ซึ่งจะสามารถฉีดในจุดที่มีปัญหาเฉพาะผมบางเท่านั้น) โดยวิธีนี้จะสามารถฟื้นฟูเส้นผมอ่อนแอเหล่านั้นให้กลับมาเจริญเติบโต อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการงอกใหม่ของเส้นผมอีกด้วย แต่เนื่องจากการทำคีโมเป็นการฆ่าเซลล์ที่มีความสามารถในการแบ่งตัว วิธีนี้จึงไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัดเช่นกันครับ
หากต้องการปลูกผมในอนาคตได้หรือไม่ ?
ในผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษาแบบเคมีบำบัดอยู่นั้น หมอแนะนำว่า ควรรอให้จบการรักษาให้เสร็จสิ้นไปก่อน อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วจึงจะสามารถให้คุณหมอเจ้าของไข้พิจารณาอีกครั้งว่า สามารถเข้ารับการปลูกผมแบบย้ายราก หรือปลูกผมแบบ Recell ได้แล้วหรือไม่ เนื่องจากในสภาพร่างกายของคนไข้แต่ละท่านจะมีการฟื้นตัวจากการรักษาแต่ละแบบที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงในเรื่องของโรคร่วมอื่น ๆ หรือยาที่คนไข้ใช้ประจำก็มีผลต่อการประเมินจากหมอเจ้าของไข้ด้วยนะครับ ว่าจะอนุญาตให้คนไข้สามารถทำหัตถการเหล่านี้ได้หรือไม่ครับ
ทั้งนี้ ระหว่างที่คนไข้รอให้ร่างกายฟื้นความแข็งแรงคืนกลับมาหลังจากสภาวะที่ได้รับเคมีบำบัดเรียบร้อยแล้ว สามารถใส่วิกผมเทียมเพื่อเพิ่มความมั่นใจ หรือจะสวมหมวกที่ทำด้วยผ้าฝ้าย ก็จะช่วยลดอาการคันจากภาวะผมร่วงได้ด้วยนะครับ
สำหรับใครที่มีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามเกี่ยวกับปัญหาเส้นผม รวมถึงการบำรุงเส้นผม สามารถทักเข้ามาสอบถามได้ทางช่องทางนี้เลยครับ สอบถามเพิ่มเติม