สำหรับหลาย ๆ คนที่ได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผม ผมเชื่อว่าต้องเคยพบกับคำว่า shock loss หรืออาการผมร่วงหลังปลูกผมแน่ ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ และจะมีผลกับเราต่อไปหรือไม่ มาติดตามกันในบทความนี้ครับ
ผมร่วงหลังการปลูกผมแบ่งออกเป็น 2 บริเวณ
1. ผมร่วงในบริเวณที่ปลูกผม
ไม่ว่าจะเป็นส่วนหน้า (ล้าน-เถิก) หรือด้านบน (หัวไข่ดาว) ในบริเวณนี้เราไม่ได้เรียกว่า shock loss เพราะผมบริเวณนี้จะร่วงอยู่แล้ว (อาจใช้คำว่า Graft Shedding) เมื่อเซลล์รากผมที่ทำการปลูก “ปลูกติดสนิท” กับบริเวณที่ผิวหนังของเราแล้วก็จะค่อย ๆ เริ่มวัฏจักรของผมใหม่ โดยปกติผมที่ปลูกนี้จะหลุดร่วงในช่วง 1-2 เดือนแรกภายหลังการปลูกผม แต่สำหรับท่านที่่ผมบาง แล้วปลูกด้วย ReCell ไม่ต้องกังวลปัญหานี้นะครับ
2. ผมร่วงนอกบริเวณที่ปลูกผม
ส่วนนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Shock Loss (หรือ Postsurgical Effluvium Of Preexisting Hair) อาจเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณที่มีการดึงผมออกมา (Donor Area) รวมถึงบริเวณอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณที่หนังศีรษะถูกสร้างบาดแผลจากการปลูกผม สาเหตุนั้นก็เป็นเพราะว่าการสร้างบาดแผลจากการปลูกผมอาจไปสร้างความกระทบกระเทือนต่อเส้นเลือดเล็ก ๆ ใต้หนังศีรษะ ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงยังพื้นที่ที่ไกลออกไปน้อยกว่าปกติ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล แต่ไม่ต้องกังวลเพราะผมเหล่านั้นจะค่อย ๆ งอกกลับมาใหม่อีกครั้ง โดยทั่วไปจะงอกใหม่พร้อม ๆ กับผมที่ทำการปลูกไป
โดยปกติหากรับการปลูกผมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะไม่เกิดปัญหาผมไม่งอกในบริเวณดังกล่าว แต่หากผมเหล่านี้ไม่ขึ้นใหม่ต้องรีบปรึกษาแพทย์ที่ทำการปลูกผมให้ว่าเหตุเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทันเวลา
สำหรับคนไข้ที่ต้องการลดผลกระทบจากการเกิด Shock Loss สามารถเริ่มใช้ Minoxidil แบบทาที่บริเวณหนังศีรษะหลังการปลูกผมไปแล้ว 4-7 วันได้ครับ หรืออาจจะใช้ร่วมกับยาหรือวิตามินแบบกิน โดยควรจะปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อหาแนวทางการกินยาที่ถูกต้อง ไม่ควรไปซื้อยามากินด้วยตนเองเพราะว่าการกินยาจำพวก Minoxidil หรือ Finasteride นั้นอาจจะมีผลข้างเคียงที่เกิดจากการกินผิดขนาด หรือเลิกยาแบบทันทีที่จะทำให้ผลเสียเกิดขึ้นได้ครับ
อีกเรื่องหนึ่งที่หมอขอเน้นย้ำก็คือการกินอาหารให้ครับทั้ง 5 หมู่ และอย่าลืมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ไบโอติน (Biotin) ที่อยู่ในกลุ่มของวิตามินที่มีผลต่อเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นผมหรือผิวก็ตาม ไบโอตินยังสามารถเพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างผมได้อีกด้วย แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยไบโอติน เช่น ไข่แดง หรือเนื้อสัตว์สีแดง (เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว) และอย่าลืมแร่ธาตุต่าง ๆ (Trace Element) หรือก็คือแร่ธาตุที่ไม่ต้องการจำนวนมากต่อวัน เช่น ธาตุเหล็ก (Iron) ซีลีเนียม (Selenium) สังกะสี (Zinc) เป็นต้น ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้ช่วยให้เซลล์ที่มีการแบ่งตัวบ่อย ๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ