หลายคนคงเคยได้ยินว่าผมร่วงนั้นเกิดจากฮอร์โมนที่ชื่อว่า “DHT” (Dihydrotestosterone) ที่เป็นสาเหตุหลักของการผมร่วงแบบพันธุกรรมในทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่วันนี้ BEQ Hair Center จะขอพาไปเจาะลึกเกี่ยวกับฮอร์โมนที่ว่านี้ ว่ากลไกการทำงานเป็นอย่างไร ถึงทำให้ผมร่วง หัวล้านได้ รวมถึงวิธีการดูแลรักษาเมื่อต้องพบกับปัญหาเส้นผมจากฮอร์โมน DHT
DHT คืออะไร?
Dihydrotestosterone (DHT) เป็นฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาลักษณะทางเพศของ “ผู้ชาย” ไม่ว่าจะเป็นการมีขนบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย การมีเสียงที่ทุ้มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และที่สำคัญทำให้เกิดอาการศีรษะล้าน-เถิกขึ้นได้ครับ
ร่างกายของเราไม่ได้ผลิต DHT ขึ้นมาตรง ๆ แต่ว่าร่างกายของเราผลิตฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่าเทสโทสเตอโรน (Testosterone) จากอัณฑะในเพศชาย รังไข่ในเพศหญิง รวมไปถึงต่อมอื่น ๆ ในร่างกาย เมื่อฮอร์โมน Testosterone ไปเจอกับเอนไซม์ 5α-Reductase ก็จะทำให้เกิดเจ้าฮอร์โมน DHT ขึ้นมาที่อวัยวะปลายทางนั่นเอง
DHT ทำให้ผมร่วงได้อย่างไร?
DHT จะเข้าไปทำให้วัฏจักรของผมมีความผิดปกติไป โดยเมื่อฮอร์โมน DHT เข้าไปยังรากผม ก็จะทำให้เกิดสารต่าง ๆ มากมาย เช่น Beta-catenin, Lymphoid enhancer binding factor-1 (LEF-1), Transforming-growth factor β1 เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะไปทำให้ระยะการงอกยาวของเส้นผมสั้นลง ในขณะที่ระยะพักก่อนการงอกใหม่ยาวนานขึ้น สุดท้ายผมเส้นนั้นก็จะหายไปจากหนังศีรษะในที่สุด

การแก้ปัญหาผมที่เกิดจาก DHT
1. การรักษาทางการแพทย์
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มมีปัญหาผมบางแต่ยังไม่ถึงกับหนังศีรษะล้าน อาจจะเริ่มต้นการรักษาด้วยการทำ ReCell และ Plasma hair PRP ที่จะช่วยกระตุ้นเซลล์รากผมที่ฝ่อเล็กลงให้กลับมาอ้วนโตอีกครั้งและยังช่วยลดการหลุดร่วงอีกด้วย
ทางเลือกต่อมา คือการทำศัลยกรรมการปลูกผม เทคนิคการปลูกผมนั้นมีการทำกันมานานหลายสิบปี ด้วยเวลาที่ผ่านไปทำให้มีการพัฒนาต่าง ๆ ที่ทำให้การปลูกผมในปัจจุบันดูมีความน่ากลัวน้อยลง ใช้เวลาในการทำเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลง และได้ผลลัพธ์ที่ดูดีเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยการปลูกผมจะใช้การย้ายรากผมจากบริเวณศีรษะด้านหลังที่มีความแข็งแรงและได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมน DHT น้อยมาทำการปลูกผม เทคนิคที่เป็นที่นิยมในทุกวันนี้ คือ Follicular unit excision (FUE) และ Direct hair implantation (DHI)
2. การใช้ยา
และนอกจากนี้ก็อาจพิจารณาการใช้ยาร่วมด้วยซึ่ง สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท อย่างแรกคือการใช้ยาโดยมีทั้งยากินและยาทาที่หนังศีรษะโดยตรง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำให้มีเส้นผมเกิดขึ้นใหม่บนหนังศีรษะที่ไม่มีเส้นผมแล้วได้
2.1 ฟินาสเตอไรด์ (Finasteride)
การแก้ปัญหาเรื่องฮอร์โมน DHT ในปัจจุบันจะเป็นการใช้ยา Finasteride ในการรักษาเป็นหลัก โดยยาตัวนี้จะทำหน้าที่ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ 5α-Reductase ทำให้ฮอร์โมน testosterone ถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมน DHT น้อยลง จึงช่วยทำให้ผมร่วงน้อยลง
2.2 มิน็อกซิดิล (Minoxidil)
ยากระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่รูขุมขน ยืดระยะการเจริญเติบโตของเส้นผม ใช้ได้ทั้งชายและหญิง มีทั้งแบบทา (2%, 5%) และแบบรับประทาน แต่มีข้อควรระวังคืออาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเฉพาะที่ ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง
3. ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดระดับความเครียดซึ่งส่งผลต่อสมดุลฮอรโมนเพศ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ให้ร่างกายฟื้นฟูและรักษาสมดุลฮอร์โมน
- รับประทานอาหารที่มีสารอาหารบำรุงเส้นผม เช่น วิตามิน อี บี ซี สังกะสีและโปรตีนต่างๆ
- หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือการใช้สเตียรอยด์ ที่อาจจะรบกวนการทำงานของระบบร่างกายในการกำจัดฮอร์โมนส่วนเกิน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ DHT
DHT มีผลต่อผู้หญิงหรือไม่?
แม้ว่า DHT จะเป็นฮอร์โมนเพศชาย แต่ผู้หญิงก็มีการผลิต DHT ในปริมาณเล็กน้อย ในผู้หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ หรือในวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง DHT อาจส่งผลให้เกิดผมบางได้
การลดระดับ DHT จะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่?
DHT มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาลักษณะทางเพศชาย แต่ในผู้ใหญ่ที่พัฒนาเต็มที่แล้ว การลดระดับ DHT เฉพาะที่หรือในระดับปานกลาง มักไม่ส่งผลเสียรุนแรงต่อร่างกาย
ทำไมคนที่มี DHT สูงบางคนถึงไม่ผมร่วง?
ความไวของรูขุมขนต่อ DHT เป็นปัจจัยสำคัญกว่าระดับ DHT ในเลือด คนที่มี DHT สูงแต่รูขุมขนไม่ไวต่อฮอร์โมนนี้ก็จะไม่เกิดปัญหาผมร่วง
การรักษาปัญหาผมร่วงจาก DHT ต้องทำต่อเนื่องตลอดไปหรือไม่?
ในกรณีของการใช้ยาอย่างฟินาสเตอไรด์หรือมิน็อกซิดิล จำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อหยุดการรักษา ผลของ DHT ต่อรูขุมขนจะกลับมาเหมือนเดิม ส่วนการปลูกถ่ายเส้นผมก็อาจต้องใช้ยาเพื่อรักษาเส้นผมเดิมที่เหลืออยู่ด้วย
สรุป
เมื่อทราบแล้วว่าภาวะผมบางหัวล้านนี้มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมน DHT ที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงควรใส่ใจในการเริ่มต้นดูแลปัญหานี้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ และอย่างเป็นองค์รวม เพื่อไม่ให้ภาวะดังกล่าวมาทำลายความมั่นใจ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบุคคลรอบข้าง นับเป็นการลงทุนในตัวเองที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ทำให้ได้มาซึ่งความมั่นใจและโอกาสดี ๆ ของชีวิตในภายภาคหน้า